เทคนิคการโฟกัสภาพให้แม่นยำ

FOCUS เรื่องใกล้ตัวของคนถ่ายภาพไม่ว่าจะใช้อุปกรณ์ใดเป็นเครื่องมือในการบันทึกภาพก็ล้วนแต่ต้องมีเป้าหมายในการเล่าเรื่องราวผ่าน object หลักในภาพจากตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งหรือทั้งภาพ ซึ่งนักถ่ายภาพจำนวนมากมักเจอกับปัญหาว่าภาพของเราทำไมไม่ชัด อยากให้ตรงนี้ชัดทำไมไปชัดในจุดที่ไม่ต้องการ กล้อง เลนส์มีปัญหาหรือไม่อาจเป็นข้อสงสับประการแรกๆที่เข้ามาในความคิด แต่ส่วนใหญ่มักเกิดจากตัวเราไม่เข้าใจในตัวอุปกรณ์นั้นๆ เช่นตำแหน่งเลือกระบบโฟกัส ระยะใกล้สุดของเลนส์แต่ละตัว กล้องแต่ละรุ่นในทุกวันนี้มีความอัจฉริยะมากแม้ว่าจะเลือกระบบโฟกัสอัตโนมัติในสถานการณ์ที่ซับซ้อนมันก็ยังคงทำหน้าที่ได้เป็นอย่างดี เมื่อระบบดีแล้วการควบคุมเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องตัดสินใจว่ากรณีใดควรเลือกหยิบระบบหรือฟังก์ชั่นใดขึ้นมาสนองการใช้งานเหล่านั้นได้เหมาะสม ลองไปติดตามว่าเราจะมีวิธีเลือกการโฟกัสภาพทั้งแบบอัตโนมัติ และแมนนวลให้แม่นยำได้อย่างไร

Automatic Focus Mode หรือโหมดการโฟกัสภาพ แบบอัตโนมัติเป็นการโฟกัสภาพที่นักถ่ายภาพส่วนใหญ่เลือกใช้เป็นมาตรฐานเพราะสะดวก ง่าย เพียงแตะปุ่มชัตเตอร์ครึ่งหนึ่งเมื่อตำแหน่งที่โฟกัสชัดจะมีเสียงเตือน และกรอบโฟกัสก็จะยืนยันเป็นสีเขียวแต่สามารถเลือกปิดเสียงได้ด้วยฟังก์ชั่นเสียงเงียบในจังหวะที่ต้องการความเป็นส่วนตัว หรือไม่ไปรบกวนผู้อื่น ในกล้องแต่ละแบรนด์จะมีชื่อเรียกระบบการโฟกัสที่แตกต่างกันแต่ก็มีลักษณะการใช้งานเหมือนกันสามารถแบ่งได้เป็น3รูปแบบหลักได้แก่ การโฟกัสภาพครั้งเดียว, การโฟกัสภาพเคลื่อนไหวต่อเนื่อง และโฟกัสภาพต่อเนื่องติดตามวัตถุ

การโฟกัสภาพอัตโนมัติแบบครั้งเดียว เหมาะสำหรับใช้กับตัวแบบที่หยุดนิ่ง อาทิ แก้ว อาหาร ตุ๊กตา นางแบบ ส่วนการโฟกัสภาพอัตโนมัติแบบเคลื่อนไหวต่อเนื่องเหมาะกับการเก็บภาพตัวแบบที่มีการเคลื่อนไหวไปมาเล็กน้อย อาทิ ดอกหญ้าถูกลมพัด เด็กนั่งเล่น และสุดท้ายการโฟกัสภาพอัตโนมัติติดตามวัตถุ เหมาะกับการถ่ายภาพวัตถุที่มีการเคลื่อนที่ทั้งแบบสามารถประเมินทิศทางได้และประเมินไม่ได้ อาทิ มอเตอร์ไซด์ แมลงปอ ผีเสื้อ ดังนั้นการเลือกใช้งานจึงควรปรับตั้งไว้ล่วงหน้าก่อนเริ่มหาโฟกัสภาพทุกครั้งให้เหมาะสม

Focus Point หรือตำแหน่งจุดโฟกัสนั้นเป็นเรื่องเริ่มต้นของนิยามความงามในภาพ หากไม่สามารถจับโฟกัสได้ถูกต้องก็อาจไม่มีโอกาสได้ภาพที่ต้องการ การเลือกหาจุดโฟกัสจะใช้ระบบหาโฟกัสแบบอัตโนมัติ แบบกึ่งอัตโนมัติ หรือแบบปรับตั้งเองไม่มีข้อบัญญัติหรือสูตรที่ตายตัวขึ้นกับความถนัดของนักถ่ายภาพแต่ละคน การถ่ายภาพที่มีความซับซ้อน หรือจุดที่ต้องการโฟกัสมีขนาดเล็กแนะนำให้ลองเลือกหาจุดโฟกัสแบบปรับตั้งเองเพราะสมองกลในกล้องไม่อาจคาดเดาความคิดได้เท่าทันสมองมนุษย์ หรือเพื่อย่นระยะเวลาปัจจุบันเลนส์รุ่นใหม่ๆจะรองรับระบบโฟกัสแบบกึ่งอัตโนมัติ คือเบื้องต้นให้กล้องคิดวิเคราะห์ให้ก่อนจากนั้นสามารถหมุนปรับละเอียดได้อีกที (Full-Time Autofocus) เพื่อช่วยประหยัดเวลา

ซึ่งจำนวนของจุดโฟกัสมากก็สามารถครอบคลุมพื้นที่ภาพได้มาก และเอื้ออำนวยต่อการเลื่อนตำแหน่งจุดโฟกัสเมื่อใช้แบบจุดเดียวทั้งการควบคุมด้วยแป้นทิศทาง หรือควบคุมผ่านระบบสัมผัสของหน้าจอ LCD แบบ Capacitive ที่รวดเร็วแม่นยำสามารถกำหนดขนาดพื้นที่การโฟกัสได้หลายขนาดเพื่อให้ปรับตามความเหมาะสมของวัตถุที่ต้องการให้ค้นหา การเลื่อนจุดที่จะโฟกัสได้ทำให้สามารถจัดองค์ประกอบภาพไว้ก่อนแล้วค่อยแตะเลือกตำแหน่งชัดภายหลังได้ง่ายหากใช้ร่วมกับขาตั้งกล้องที่มั่นคง

Focus AF Lock หรือการล็อคจุดโฟกัสเป็นเทคนิคการถ่ายภาพที่มีมานานมักใช้สำหรับจัดองค์ประกอบภาพในตำแหน่งที่ไม่มีจุดโฟกัสครอบคลุมถึง หรือตั้งตำแหน่งโฟกัสภาพไว้ตรงกลางตลอดเวลาเพียงแตะชัตเตอร์ค้างไว้แล้วถึงขยับเฟรมภาพให้เป็นไปตามที่ต้องการ อีกวิธีในการล็อคโฟกัสไม่ให้จุดโฟกัสเปลี่ยนไปจากที่ตั้งระยะไว้ คือเมื่อกล้องและเลนส์หาจุดโฟกัสแบบอัตโนมัติได้แล้วเราไม่ต้องการย้ายจุดโฟกัสในเฟรมต่อๆ ไปเราก็เพียงผลักสวิทช์ปรับ AF ไปที่ MF (บริเวณกระบอกเลนส์หรือด้านหน้าเลนส์) ทำให้กล้องจะไม่ค้นหาโฟกัสเองต่อไป เมื่อกดชัตเตอร์ก็ลั่นต่อเนื่องได้ทันทีโดยไม่เสียเวลาค้นหาโฟกัสก่อนทุกภาพ

This entry was posted in รูปถ่าย and tagged . Bookmark the permalink.

Comments are closed.